EN | TH
โรคร้ายของคนเมือง แก้อย่างไรดีหนอ??

urban disease 01 urban disease 02urban disease 03


วิถีชีวิตในเมือง..คุณแน่ใจแล้วหรอว่ามันสามารถทำให้คุณมีชีวิตที่สุขสบายขึ้นได้ ?? จากการที่คุณมีโอกาสการทำงานที่ดีกว่า อีกทั้งยังได้เงินเดือนที่สูงกว่าในจังหวัดอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดี ย่อมมีดาบสองคม..นั้นก็คือ “ภัยคุกคามสุขภาพของคนเมือง” สิ่งเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นได้เนื่องจากรูปแบบการดำเนินชีวิตและค่านิยมของผู้คนเมืองส่วนใหญ่นั้น ต้องใช้ชีวิตแข่งขันกับเวลาและภาระหน้าที่ที่รับผิดชอบ ทำงานหามรุ่งหามค่ำ เผชิญกับมลภาวะอยู่ทุกวี่วัน โดยไม่คำนึงถึงความเป็นอยู่ของตนเองว่ามันกำลังเผชิญกับความเลวร้ายมากน้อยเพียงใด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้กำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนเราโดยที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

อย่างไรก็ตาม ความสุขคือสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่ปัจจุบันด้วยสภาพการดำเนินชีวิตที่แข่งขันตลอดเวลา สังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มนุษย์ทุกวันนี้ขาดหลักยึดในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง คนส่วนใหญ่เชื่อว่าการมีความสุข คือการมีเงินทองมากๆ เพื่อจะได้สิ่งต่างๆที่ปรารถนา ตราบใดที่เรามีแรง เราต้องทำงานให้เต็มที่ เพื่อให้คุ้มค่ากับการใช้ชีวิต หรือบางคนอาจต้องส่งเงินเพื่อเลี้ยงครอบครัว หรือเพื่อยกฐานะตัวเอง ทุกคนล้วนมีเหตุผลของตัวเอง เพื่อละเลยการใส่ใจตนเอง แต่อันที่จริงแล้วนั้น สิ่งที่สำคัญไม่ต่างเช่นกันเลย นั่นก็คือ การมีสุขภาวะที่ดี ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่เราปล่อยปะละเลยมากเท่าใด แล้วโรคต่างๆ ดันเอาคืนกับตัวเราขึ้นมาจริงๆ เราก็จะเกิดความคิดที่ว่า เราไม่น่าทำอย่างนั้น เราควรจะทำแบบนี้ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเราควรจะใส่ใจตั้งแต่แรก ดังนั้นบทความนี้จึงอยากที่จะให้คนเมืองเกิดความตระหนัก และใส่ใจกับสิ่งที่สำคัญที่สุด นั้นก็คือ สุขภาพ ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งโรคร้ายที่มักจะเกิดขึ้นกับคนเมือง มีดังนี้

urban disease 04urban disease 05 urban disease 06 urban disease 07


     โรคเครียดปัจจุบันคนไทยเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ผู้คนในเมืองใหญ่มีปัญหาเรื่องของอารมณ์ ไม่ว่าจะโกรธง่าย ฉุนเฉียวง่าย อยู่กับความเครียดตลอดเวลาจากผลการวิจัยของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปี 2549 คนไทยมีแนวโน้มเป็นโรคเครียดในระดับสูงมากถึง 8 % เครียดระดับปานกลาง 33 % และเครียดระดับน้อย 57 % รวมทั้งคนที่อยู่ในช่วงอายุ 25-35 ปี ซึ่งเป็นวัยที่กำลังก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มักเป็นโรคเครียดมากกว่าวัยอื่น เรียกกันว่า โรคผู้บริหาร
     โรคระบบทางเดินหายใจ มลภาวะเป็นพิษ สาเหตุหลักของโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคปอด ไซนัส หวัด รายงานทางการแพทย์ของไทยพบว่าคนกรุงเทพฯ มีอัตราผู้ป่วยภูมิแพ้สูงถึง 50 % ต้นเหตุแห่งมลพิษก็มาจากโรงงานอุตสาหกรรมตามหัวเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก ที่ปล่อยหมอกควันพิษเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ รวมทั้งไอเสียจากรถยนต์ที่มีปริมาณมากขึ้นทุกวัน
     โรคความผิดปกติของกล้ามเนื้อยุคไอทีแทบทุกคนในเมืองใหญ่ต้องนั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์ การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ทำให้ตาพร่ามัว รังสีจากหน้าจอทำให้กล้ามเนื้อตาตรึงเครียด ซึ่งหากทิ้งไว้นานจะมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย กล้ามเนื้อเมื่อยล้า เป็นอาการเครียดของกล้ามเนื้อเมื่อใช้งานต่อเนื่องนานๆ
     โรคนอนไม่หลับการนอนหลับสนิทอย่างเพียงพอ มีความสำคัญต่อความเข้มแข็งของสุขภาพและวิถีการดำเนินชีวิต แต่ปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยมีปัญหาการนอนไม่หลับ โดยเฉพาะคนเมืองที่มีวิถีชีวิตการกินอยู่ผิดธรรมชาติ ผลการศึกษาทางการแพทย์พบว่า ประชากรผู้ใหญ่ในเมืองใหญ่กว่าร้อยละ 30 ไม่ได้รับการพักผ่อนนอนหลับอย่างมีสุขภาพและเพียงพอ ทำให้ไม่สามารถปฎิบัติภารกิจในแต่ละวันได้อย่างมีคุณภาพ เกิดจากหลายสาเหตุเช่น อาหาร รูปแบบการใช้ชีวิต การเจ็บป่วย การใช้ยา ความเครียด ความกังวล ฯลฯ
     โรคปลายประสาทอักเสบเกิดจากความผิดปกติของประสาทส่วนปลาย เป็นผลจากโรคเครียดและกล้ามเนื้ออักเสบ การได้รับสารพิษหรือโลหะหนักอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการนั่ง ยื่น หรือท่ายกของอย่างไม่ถูกต้องเป็นเวลานานๆ โรคนี้พบบ่อยในคนทำงานนั่งโต๊ะ รวมทั้งคนที่อาศัยในเขตอุตสาหกรรม โดยเฉพาะบริเวณที่มีมลพิษหนาแน่น
     โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ความรีบเร่งทำงาน รถติด ห้องน้ำไม่สะอาด ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะกลั้นปัสสาวะ โดยไม่รู้เลยว่าปริมาณน้ำจะเพิ่มเป็นเท่าตัว ทำให้กระเพาะปัสสาวะบวม ซึ่งผู้หญิงมีท่อนำปัสสาวะสั้นกว่าผู้ชาย เชื้อโรคจะย้อนกลับเข้าไปสู่กระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ อาการของโรคนี้ จะทำให้คุณมีอาการปวดปัสสาวะมากกว่า 8 ครั้งใน 1 วัน หรือปวดปัสสาวะกระปริดกระปอย ต้องเข้าห้องน้ำบ่อย จนรบกวนการหลับนอน กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
     โรคไมเกรนอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง บริเวณขมับหรือใกล้เบ้าตา ลักษณะการปวดจะรู้สึกปวดลึกเป็นจังหวะสอดคล้องกับการเต้นของหัวใจ เป็นสัญณาณเตือนของโรคไมเกรน เป็นโรคที่กำลังคุกคามประชาชนในเมืองใหญ่ อย่างน่าเป็นห่วง ข้อมูลจากคณะกรรมการการอาหารและยา ระบุว่า การปวดหัวไมเกรนส่วนใหญ่ จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และช่วงอายุที่พบเป็นช่วงวัยทำงาน มากกว่าผู้สูงอายุ

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าโรคต่างๆเหล่านี้ ส่วนใหญ่ล้วนเกิดขึ้นจากพฤติกรรมที่ผิดๆของคนเรา โดยเริ่มตั้งแต่สภาวะจิตใจทางอารมณ์ที่เกิดความเครียดและส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆตามมา เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล จนกระทั่ง อาเจียน เครียดลงกระเพาะอาหาร ปัสสาวะบ่อยจนกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นไมเกรน หรือลุกลามถึงขั้นเป็นโรคหัวใจได้

โดยสิ่งที่เราควรจะปฎิบัติเพื่อช่วยลดภัยต่างๆตามมา คือ เราควรผ่อนคลายความเครียดทางร่างกาย เริ่มง่ายๆ ด้วยการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย จะช่วยให้การทำงานของระบบเลือด ทางเดินหายใจ หัวใจ สมองดีขึ้น และแก้ปัญหาการนอนไม่หลับได้ รวมทั้งควรพักผ่อนให้เพียงพอ หรือจัดสภาพแวดล้อมในที่ทำงานใหม่ ให้น่าทำงานมากขึ้น เพื่อลดสภาวะตึงเครียด ส่วนเรื่องอาหารก็ควรลดคาร์โบไฮเดรต และแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นไมเกรน เช่น ชา กาแฟ ผงชูรส เนย นม กล้วยหอม ส้ม เป็นต้น ส่วนการป้องกันโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากปัญหามลพิษนั้น เราควรหลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงเวลารถติด พักอาศัยอยู่ในที่อากาศถ่ายเทหรือไปสูดอากาศนอกเมืองบ้าง เอาผ้าปิดจมูก เพื่อช่วยกรองสารพิษอีกที ส่วนพฤติกรรมการนั่งทำงาน เราก็ควรที่จะปรับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้เหมาะกับสรีระ เช่น ใช้แผ่นป้องกันแสง เพื่อป้องกันรังสี หรือเลือกใช้จอถนอมสายตา ควรปรับแสงสว่างหน้าจอให้เหมาะกับช่วงแต่ละเวลา และควรพักสายตาจากการทำงานหน้าคอมเป็นเวลานานๆบ้าง อีกทั้งขณะใช้คีย์บอร์ดและเมาส์ให้วางท่อนแขนขนานกับพื้น มีแผ่นรองข้อมือเพื่อช่วยลดการเคลื่อนไหว และการเสียดสี ปรับระดับเก้าอี้ให้นั่งสบาย เป็นต้น

….อย่างไรก็ตามพวกคุณรู้หรือไม่ว่า จริงๆแล้วในปัจจุบันเรามีโครงการรณรงค์ต่างๆที่น่าสนใจมากมายที่สนับสนุนเรื่องการทำให้เป็นเมืองสุขภาวะที่ดี ทั้งการรณรงค์ออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพ การบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ การทำให้เป็นเมืองปั่นจักรยาน เพื่อลดปัญหามลพิษ เป็นต้น เพื่อช่วยลดปัญหาภัยคุกคามสุขภาพของคนเมืองให้น้อยลง แต่ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างโครงการที่คิดว่าน่าสนใจ น่าจะเป็นประโยชน์กับการดำเนินชีวิตของคนเราและสามารถกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

Posted on November 20, 2013 CATEGORY : aLOUD BLOG : Infrastructure